เมื่อถึงเวลาที่กำหนดเครื่องบินขนาดเล็กลำนั้นก็วิ่งเลียบไปบนทางลาด ก่อนเชิดหัวขึ้นสูงสู่อากาศเพื่อพาผู้โดยสารทั้งหมดมุ่งหน้าไปยังจุดหมาย โดยทิ้งความพลุกพล่านของสนามบินที่ใช้เวลาก่อสร้างนานที่สุดในโลก และความสับสนวุ่นวายร้อนระอุของสงครามชิงคะแนนเสียงประชาชน จากพรรคการเมืองหลักสองขั้วใหญ่ไว้เบื้องหลัง หากย้อนเวลากลับไปเมื่อสามหรือสี่สิบปีก่อน จุดมุ่งหมายของการเดินทางครั้งนี้เป็นสถานที่ต้องห้าม ผู้ที่จะเดินทางไปต้องมีอุดมการณ์และความมุ่งมั่นสูงมาก เพราะการเดินทางไม่สะดวกง่ายดายเหมือนทุกวันนี้ และบางทีหากโชคร้ายต้องถูกจำกัดอิสรภาพตอนกลับมา ด้วยข้อหาฉกาจฉกรรจ์ประเภทฝักใฝ่ในลัทธิหรือมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์อะไรประเภทนั้น ใช่แล้วค่ะจุดหมายปลายของเดินทางของครั้งนี้ เป็นประเทศที่มีธงแดงและดาวสีเหลืองเป็นสัญญลักษณ์ “สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียตนามนั่นเอง
อ่านต่อ
1 comment:
เหงียน ซวน เบ๋า (Nguyen Xuan Bao) เกิดที่กวงสี ตอนกลางของประเทศเวียดนาม เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2469 ผู้ซึ่งในเวลาต่อมา ได้ครองชีวิตภายใต้ร่มเงาแห่งพุทธศาสนาอย่างแนบสนิทลึกซึ้ง และได้ฉายาภายหลังการบวชว่า ติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh)
เมื่ออายุได้ 16 ปี ท่านบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดตื่อฮิ้ว (Tu Hieu) ในเมืองเว้
เมื่ออายุ 23 ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุในทางพุทธศาสนา ฝ่ายมหายานนิกายเซน จากนั้นจึงเดินทางไปไซ่ง่อน เพื่อช่วยฟื้นฟูพุทธศาสนา
เมื่ออายุ 36 ท่านได้รับทุนไปศึกษาต่อด้านศาสนาเปรียบเทียบที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา
หนึ่งปีต่อมา ท่านได้เป็นผู้บรรยายพิเศษที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
หากแต่ท่านตัดสินใจกลับเวียดนาม เพื่อช่วยสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทกับมหายานในเวียดนามใต้
เมื่ออายุ 40 ท่านกลับไปสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง เพื่อร่วมการประชุมสัมมนาเกี่ยวกับพุทธศาสนาในเวียดนามที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ ..รวมถึง พยายามทำให้สังคมมีสันติภาพ ด้วยการกระตุ้นให้คน-ไม่ว่าชาติใดก็ตาม-เห็นถึงความสำคัญของสันติภาพ
ท่านตระหนักว่า ต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการการต่อสู้เพื่อสันติภาพ เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือหยุดการสนับสนุนสงคราม และมุ่งเน้นสันติภาพโดยปลุกจิตสำนึกต่อคนทั่วโลก
ผลของการทำงานและการเคลื่อนไหวต่างๆของท่าน ส่งผลให้รัฐบาลเวียดนามใต้ไม่อนุญาตให้ท่านกลับเข้าประเทศ ท่านจึงต้องลี้ภัยอย่างเป็นทางการในฝรั่งเศส และระหว่างนั้น ท่านยังคงทำงานเพื่อสันติภาพและผู้ลี้ภัย ควบคู่ไปกับการนำธรรมสู่ผู้คนทุกเชื้อชาติ
เมื่ออายุ 56 ท่านเริ่มก่อตั้งชุมชนแห่งใหม่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ให้ชื่อว่า “หมู่บ้านพลัม” (Plum Village) อันเป็นชุมชนแบบอย่างการปฏิบัติธรรมแห่งพุทธบริษัทสี่ โดยไม่มีเส้นแบ่งทางศาสนา ซึ่งจะเน้นการเจริญสติในชีวิตประจำวันอย่างตระหนักรู้ในแต่ละลมหายใจเข้าออก และกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะ
ลุถึง พ.ศ. 2548 หลังไฟของสงครามเวียดนามดับมอดไปแล้วถึง 30 ปี เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองของเวียดนามเข้าสู่ภาวะปกติ
ท่านติช นัท ฮันห์ จึงได้เดินทางกลับมาเยือนแผ่นดินเกิดของท่านอย่างเป็นทางการ
หลังการจากไปนานเป็นเวลา 39 ปี ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับจากประชาชนชาวเวียดนามอย่างอบอุ่น
ถึงตอนนี้ ท่านติช นัท ฮันห์ ยังคงพำนักอยู่ที่หมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส
และยังคงเดินทางไปประเทศต่างๆเกือบทั่วโลก พร้อมด้วยภิกษุและภิกษุณีแห่งหมู่บ้านพลัม
เพื่อเผยแผ่ธรรมและนำการเจริญสติเจริญภาวนาแก่ผู้สนใจซึ่งมีเป็นจำนวนมาก
หมู่บ้านพลัม จึงถือเป็นบ้านของท่านตราบจนทุกวันนี้
“ติช” ในเวียดนามเป็นคำเรียกพระ แปลว่า “แห่งศากยะ” คือ ผู้สืบทอดพุทธศาสนา
“นัท ฮันห์” แปลว่า “สติอยู่กับปัจจุบันขณะ” คือ การกระทำเพียงหนึ่ง (One Action)
“ติช นัท ฮันห์” จึงแปลว่า ผู้สืบทอดพุทธศาสนาอันสติอยู่กับปัจจุบันขณะ
หมู่ลูกศิษย์ในทางตะวันตก เรียกท่านว่า “Thay” (ไถ่) ซึ่งในภาษาเวียดนามมีความหมายว่า “ท่านอาจารย์”
(เก็บความจาก หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10671
เรื่องโดย สุทธาสินี จิตรกรรมไทย)
Post a Comment